ล่าดาวหางสะดุด! ระบบนำทาง-สื่อสาร “โรเซตตา” เสียหาย


บทความโดยผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9580000038417
2 เมษายน 2558 21:03 น.



ภาพจำลองปฏิบัติการขณะยานโรเซตตาส่งยานฟิเลลงจอดดาวหาง (AFP PHOTO / ESA / ATG MEDIALAB)
       ฝ่ายควบคุมปฏิบัติการ “โรเซตตา” แถลงระบบนำทางและสื่อสารของยานล่าดาวหางเสียหาย หลังปะทะเข้ากับฝุ่นและก๊าซจากดาวหางที่ติดตาม ส่วนยานลูกขาดพลังงาน เพราะหลงจอดในผามืด อีซาหวังเมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาที่สุดยานลูกจะฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
       
       องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) หรืออีซา (ESA) แถลงว่า ยานโรเซตตา (Rosetta) โฉบเข้าใก้ลดาวหาง 67พี/ชูริมอฟ-เกราซิเมนโก (67P/Churyumov-Gerasimenko) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเผชิญปัญหาขัดข้องอย่างรุนแรง จึงต้องปรับเข้าสู่ “เซฟโหมด” (safe mode) โดยเอเฟพีได้อ้างถึงคำแถลงผ่านบล็อกของอีซาว่า ขณะนี้ยานฟื้นสภาพอย่างดีแล้ว แต่ต้องใช้เวลาอีกระยะเพื่อปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ได้ตามปกติ
       
       ทั้งนี้ โรเซตตาได้เข้าโคจรรอบดาวหาง 67พี ตั้งแต่เมื่อเดือน ส.ค.ปีที่ผ่านมา หลังจากติดตามมาเป็นเวลานานถึง 10ปี คิดเป็นระยะทางในการติดตามประมาณ 6.5 พันล้านกิโลเมตร โดยยานมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาทนี้มีเป้าหมายค้นหาความลับที่ซ่อนอยู่ในดาวหาง ซึ่งเชื่อว่าเป็น “แคปซูลกาลเวลา” ที่บรรจุเรื่องราวกำเนิดของระบบสุริยะ  
       
       ทุกวินาทีที่ดาวหางขยับใกล้ดวงอาทิตย์ ความร้อนจากดาวฤกษ์ศูนย์กลางระบบสุริยะจะทำให้ผิวของดาวหางอุ่นขึ้น เป็นเหตุให้เกิดฝุ่นที่จะกระจายออก พร้อมก๊าซที่ร้อนและระเบิดออกไปในอวกาศ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะมองเห็นส่วนหัวของดาวหางที่เรียกว่า “โคมา” ลุกโชติ
       
       ทว่า สำหรับโรเซตตาแล้วปัญหาดังกล่าวเป็นอุปสรรคเกิดคาด เมื่อยานอวกาศพุ่งเข้าใกล้ดาวหางด้วยระยะห่างเพียง 14 กิโลเมตร และฝ่าเข้าไปในม่านฝุ่นและก๊าซที่คละคลุ้ง ทำให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์กวาดเอาฝุ่นและก๊าซเหล่านั้นไปด้วย อีกปัญหาคือโรเซตตาถูกออกแบบระบบนำทางให้จับตำแหน่งดาว และอุปกรณ์ติดตามดาวเหล่านั้นจมอยู่ในเศษของดาวหางจำนวนมาก ส่งผลให้ยานเริ่มเดินทางสะเปะสะปะ ส่วนเสาอากาสที่ชี้มายังสถานีควบคุมบนพื้นโลกก็เริ่มเบี่ยงออก และการสื่อสารก็กำลังจะหยุดลง
       
       อย่างไรก็ดี โรเซตตาจัดแจงตัวเองเข้าสู่เซฟโหมดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา อีกทั้งเมื่อวันจันทร์ที่ 30 มี.ค.ทีมภาคพื้นได้นำโรเซตตากลับเข้าสู่สถานะปกติ ตอนนี้ยานอวกาศอยู่ในระยะที่ปลอดภัยมากขึ้น โดยอยู่ห่างจากดาวหางประมาณ 200 กิโลเมตร แต่จำกัดปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์บางส่วนไว้ โดยจะกลับมาทำงานได้ตามปกติในอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ถึงอนาคตว่าดาวหางจะปล่อยฝุ่นและก๊าวออกมามากกว่า นี้เมื่อดาวหางอยู่ในตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในเดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้
        
       ย้อนกลับไปเมื่อ 12 พ.ย.2014 ยานโรเซตตาได้ส่งยานลูก “ฟิเล” (Philae) หุ่นยนต์ขนาดเท่าตู้เย็นลงจอดบนดาวหาง โดยยานลูกบรรจุพลังงานพร้อมสำหรับปฏิบัติการได้เพียง 54 ชั่วโมงก่อนพลังงานจะหมด และเชื่อว่ายานลูกนั้นลงจอดภายใต้เงาผาของดาวหาง ทำให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ไม่ได้รับพลังงานอย่างเพียงพอจากแสงแดด แต่ทีมปฏิบัติการเชื่อว่า ยานฟิเลจะฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อดาวหาง 67 พีเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่านี้
       
       จากข้อมูลของเว็บไซต์เผยแพร่ปฏิบัติการเอเอฟพีระบุว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 2 เม.ย.2015 ยานโรเซตตาอยู่ห่างจากโลก 423 ล้านกิโลเมตร และอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 293 ล้านกิโลเมตร ส่วนวันที่ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 13 ส.ค.จะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 186 ล้านกิโลเมตร 

ผู้โพส: gunhotnews
วันที่: 14 เม.ย. 2558 21:39
จำนวนคนเข้าชมทั้งหมด:2942
หมวด: วิทยาศาสตร์

 

 

 

 


  แสดงความคิดเห็น
 
 
 
ชื่อ
กรุณากรอกข้อความตามภาพ    *ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ทุกตัวและมีอักษรภาษาไทยผสม 
อัพโหลดรูปที่นี่ และนำโค๊ด HTML Code มาใส่ในข้อความที่ต้องการ