ติดเชื้อในกระแสเลือดคืออะไร? ใครเสี่ยง? และป้องกันได้อย่างไร?


บทความและรูปภาพทั้งหมดเขียนโดย ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว
gunhotnewsขอขอบคุณครับ

ติดเชื้อในกระแสเลือดคืออะไร? ใครเสี่ยง? และป้องกันได้อย่างไร?

ชื่อว่าคำๆนี้เป็นคำที่หลายคนคงจะเคยได้ยินกันเวลาไปโรงพยาบาล ฟังดูแล้วเป็นโรคที่น่ากลัวเพราะว่าเวลาใครเป็นแล้วก็มักจะอาการหนัก อยู่โรงพยาบาลนาน หรือบางครั้งก็ถึงขั้นเสียชีวิต

ติดเชื้อในกระแสเลือดคืออะไรและแตกต่างกับติดเชื้อธรรมดาอย่างไร
ติดเชื้อในกระแสเลือด คือการที่การติดเชื้อรุนแรงจนพบเชื้ออยู่ในเลือด แตกต่างจากการติดเชื้อทั่วไป มักจะมีการติดที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง และจำกัดวงอยู่ที่ตรงนั้น ความรุนแรงก็มากกว่า เพราะว่าเมื่อเชื้ออยู่ในเลือดได้ ก็แปลว่ามันสามารถลอยไปอวัยวะต่างๆในร่างกายได้และไปก่อโรคที่ตำแหน่งอื่นๆได้
ซึ่งการที่เชื้อสามารถเข้าระบบเลือดได้และไปที่อื่นได้ จะทำให้อาการของผู้ป่วยหนัก ทำให้อวัยวะของร่างกายเกิดการทำงานผิดปกติได้หลายระบบพร้อมๆกัน

ความน่ากลัวของโรคนี้คือ ในบางกรณี อาการสามารถเป็นอย่างรวดเร็ว / บางกรณีให้ยาถูกชนิดถูกตัว แต่ว่าอาการก็ยังไม่ดีขึ้น / เช้าๆสายๆยังพอคุยได้อยู่ พอตกบ่ายก็อาการหนักจนเสียชีวิตก็มี

จะตรวจอย่างไรว่าเป็นติดเชื้อในกระแสเลือด
จริงๆแล้วการจะบอกว่าเป็นติดเชื้อในกระแสเลือดต้องอาศัยการเจาะเลือดแล้วเอาไปเพาะเชื้อ ถ้าขึ้นเชื้อเราก็จะเรียกว่าติดเชื้อในกระแสเลือด
ปัญหาคือ
- ไม่ใช่ทุกคนที่เป็น ที่จะตรวจเจอเชื้อ : บางทีจังหวะที่เชื้อมีมากเป็นคนละจังหวะกับการเจาะเลือ
- ผลการเพาะเชื้อ ใช้เวลา 3-7 วันกว่าจะขึ้น ... ซึ่งถ้ารอผลก็มักเสียชีวิตไปแล้ว

ดังนั้น แพทย์มักจะดูอาการก่อนว่าเข้าได้ไหม
ถ้ามีการติดเชื้อที่มีความเสี่ยงของการติดเชื้อในกระแสเลือด เช่น มีไข้สูง เม็ดเลือดผิดปกติ ความรู้สึกตัวผิดปกติ การหายใจดูแย่ๆ หรือมีอาการของการทำงานของอวัยวะที่ไม่ดี การไหลเวียนเลือดไม่โอเค แพทย์ก็จะคาดเอาไว้ก่อนว่ามีความเสี่ยงเรื่องติดเชื้อในกระแสเลือด จากนั้นก็จะซัดยาฆ่าเชื้อปฏิชีวนะเข้าไป
แล้วก็รอดูอาการและผลการรักษาเป็นระยะๆตามลำดับ

ใครที่มีความเสี่ยง
คือคนทุกคนมีการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ แต่ว่าคนที่เสี่ยงกว่าปกติก็คือผู้ที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น
1. เบาหวาน(ที่คุมได้ไม่ดี)
น้ำตาลสูงๆทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานน้อยลง สู้กับเชื้อได้ยากขึ้น
2. ตัดม้าม
ม้ามเป็นป้อมที่ร่างกายเอาไว้สู้กับศัตรู การตัดม้ามไม่ว่าด้วยเหตุใด จะทำให้ร่างกายขาดป้อมในการสู้เชื้อไปอีกตำแหน่งนึง ก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อบางชนิดได้ง่ายขึ้น
3. การได้รับยาที่กดภูมิคุ้มกั
เช่น ยารักษามะเร็ง ยาสำหรับผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ สเตียรอยด์ขนาดสูง(ทั้งจากในยาแผนปัจจุบัน หรือยาแผนโบราณที่แอบผสม) ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานลดลง เชื้อหลั่นล้าง่ายขึ้น
4. ตับแข็ง
ตับเป็นที่จับเชื้อโรคที่สำคัญของร่างกาย ในเวลาปกติ เชื้อจะผ่านจากลำไส้ไปตับก่อน แล้วค่อยไปหัวใจแล้วไปทั่วร่างกาย ตับก็จะจับเชื้อที่หลุดมาจากลำไส้ไว้ได้
แต่พอตับแข็ง เลือดจะไหลอ้อมตับไปหัวใจโดยตรง ดังนั้นหากติดเชื้อจากลำไส้ เชื้อจะไปทั่วร่างกายได้โดยตรง
5. ไตวาย
ไตก็เป็นที่กำจัดเชื้อที่สำคัญอีกที่หนึ่ง (แม้จะไม่เท่าตับกับม้าม) ถ้าไตวายก็เพิ่มความเสี่ยงไปอีกระดับ
6. เชื้อดุ
เชื้อบางจำพวกมีความเสี่ยงของเชื้อในการเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดอยู่แล้ว เช่น เชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบหูดับ เชื้อ2-3ชนิดจากอาหารทะเล เชื้อไข้กาฬหลังแอ่น ฯลฯ พวกนี้พอติดแล้ว ก็กระจายได้เลยแม้ไม่มีปัจจัยเสี่ยง (ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงก็ยิ่งกระจายง่ายไปอีก)
7. อายุมาก
ไม่มีอะไร อายุมาก ภูมิต่ำ เลยติดเชื้อ

ไม่ได้มีความเสี่ยงเลยนะ แต่ทำไมยังเป็น
บางคนบอกว่าญาติพี่น้องไม่ได้เสี่ยงเลยสักข้อแต่ทำไมถึงเป็น
ต้องถามก่อนครับว่าไม่มีความเสี่ยงจริงๆ หรือมีแต่ไม่รู้
ผู้ป่วยหลายคน ติดเชื้อในกระแสเลือดก่อน จากนั้นพอตรวจหาไปหามาเลยเจอว่าเป็นตับแข็งอยู่เดิม (จากดื่มเหล้าก็มี จากเป็นไวรัสตับอักเสบก็มี)
บางราย มาด้วยติดเชื้อในกระแสเลือด ... และก็ตรวจพบว่าเป็นเบาหวานครั้งแรก (ไม่มีโรคประจำตัว เพราะว่าไม่เคยตรวจ)
บางรายบอกว่าตรวจทุกปีไม่เจออะไร แข็งแรงดี ... ซักไปซักมากินสมุนไพร เอาไปตรวจ อ้าว ใส่สเตียรอยด์
ดังนั้น เราไม่รู้ว่าเรามีหรือไม่มีความเสี่ยง ต้องตรวจก่อนครับ

ป้องกันอย่างไร
1. ตรวจสุขภาพเป็นระยะ ว่ามีความเสี่ยงอะไรโผล่มาไหม
2. กินสุก ของกินทุกอย่างควรสุก (ส้มตำถ้าไม่มั่นใจความสะอาด ควรกินสุก / อาหารอะไรมาจากทะเล ต้องสุกแบบร้อนจัดติดต่อกันสามนาที แบบปูเหี่ยว หอยเหี่ยว ... แบบฉ่ำน้ำหวานๆนี่ไม่เอาเด็ดขาด) ... และถ้าภูมิต่ำอย่างชัดเจน จะเปลี่ยนจากควรสุกเป็น"ต้องสุก" เพราะพลาดทีนึงนี่หนักเลย
3. ถ้ามีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยง ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคเท่าที่ทำได้
4. อย่ากินยาฆ่าเชื้อพร่ำเพรื่อ ... คือพอเป็นติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้นมา บางคนเกิดจากเชื้อที่มีในตัว ... พอกินยาบ่อย เชื้อดื้อยา ... พอไปหาหมอ หมอให้ยาเร็วแต่ว่าเชื้อดันดื้อยา เลยอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรืออายุมาก การฉีดวัคซีนให้ลองถามแพทย์ที่ดูแลอยู่ประจำครับ

บทความและรูปภาพทั้งหมดเขียนโดย ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว

https://www.facebook.com/HmxMaew/photos/a.398936216867904.96187.398912630203596/1075808172514035/?type=3&theater
gunhotnewsขอขอบคุณครับ


ผู้โพส: gunhotnews
วันที่: 14 ก.ค. 2559 19:31
จำนวนคนเข้าชมทั้งหมด:3092
หมวด: ความรู้ทั่วไป

 

 

 

 


  แสดงความคิดเห็น
 
 
 
ชื่อ
กรุณากรอกข้อความตามภาพ    *ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ทุกตัวและมีอักษรภาษาไทยผสม 
อัพโหลดรูปที่นี่ และนำโค๊ด HTML Code มาใส่ในข้อความที่ต้องการ