รัฐบาลคณะราษฎร ฟ้องยึดทรัพย์ในหลวง รัชกาลที่ ๗


บทความทั้งหมดเขียนเรียบเรียงโดยคุณ โบราณนานมา

gunhotnewsขอขอบคุณครับ

รัฐบาลคณะราษฎร ฟ้องยึดทรัพย์ในหลวง รัชกาลที่ ๗

แม้คณะราษฎรจะกุมอำนาจได้แล้ว ยังได้พยายามกระทำการ อันเป็นการมุ่งร้าย และมีผลกระทบต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ซึ่งทำให้เรามองเห็นถึงความอาฆาตมาดร้าย ของฝ่ายผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง คงเป็นเพราะคนพวกนี้ เกรงว่าราษฎรอาจหันกลับมา หนุนให้มีการปกครองในระบอบเก่า คือระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) กันอีกครั้ง

หลังการยึดอำนาจ ยังคงมีความขัดแย้งระหว่าง รัชกาลที่ ๗ กับคณะราษฎรยังคงมีอยู่ เพราะทรงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะให้มีบทเฉพาะกาล ให้คณะผู้ก่อการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเอาไว้ ๑๐ ปี แล้วจึงเปลี่ยนการปกครองไปอยู่ในมือของประชาชน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เดินทางออกนอกประเทศ เพื่อไปรับการรักษาพระเนตร เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖

ความขัดแย้งระหว่าง รัชกาลที่ ๗ และรัฐบาลดำเนินไปจนถึงขั้นแตกหัก พระองค์ทรงลาออกจากราชสมบัติในที่สุด เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาที

เมื่อทรงลาออกไปแล้ว รัฐบาลไม่รอช้าที่จะออกพระราชบัญญัติ เพื่อจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ โดยมุ่งจะยึดเอา “พระคลังข้างที่” (เงินสะสมของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี สืบมาแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงค้าขายเก่งมาก่อนครองราชย์ และได้ทรงนำเงินนั้นใส่ “ถุงแดง” ไว้ข้างแท่นพระบรรทม จึงเรียกว่า “พระคลังข้างที่”…วาทตะวัน) โดยออกเป็นกฎหมายชื่อว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙” และเริ่มใช้บังคับตั้งแต่ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๗๙ เป็นต้นมา

พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้แยกทรัพย์สินหรือสิทธิ ออกเป็นสองส่วนคือ “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” และ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” และ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน”

ปัญหาการฟ้องร้องเกิดขึ้น เมื่อผู้ก่อการกลุ่มหนุ่มในตอนนั้นซึ่งอยู่ภายใต้การนำของ หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ที่จ้องมอง ‘ถุงเงิน’ อย่าง ‘พระคลังข้างที่’ ตาเป็นมัน ด้วยความมุ่งหมายที่จะยึดเอามาเป็นของรัฐ เพื่อนำมาเป็นทุนในการจัดระบอบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (แต่ถูกวิจารณ์ว่า “คอมมิวนิสต์”) ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบบัญชีพระคลังข้างที่ ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงฐานะ มาอยู่ในกำกับดูของกระทรวงการคลัง ตามกฎหมายใหม่ ที่ว่าด้วยการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ปรากฏว่าคณะกรรมการชุดนี้ ได้พบเงินหายไปหลายรายการ ซึ่งเป็นเงินที่ฝากไว้ในนามของพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ในธนาคารของต่างประเทศ

รัฐบาลของฝ่ายผู้ก่อการได้ยื่นฟ้อง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เป็นจำเลยที่ ๑ และสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี เป็นจำเลยที่ ๒ ให้ชดใช้เงินแก่กระทรวงการคลัง เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๖,๒๗๒,๗๑๒ บาท ๙๒ สตางค์ (หกล้านสองแสนเจ็ดหมื่นสองพันเจ็ดร้อยสิบสองบาท เก้าสิบสองสตางค์)

การฟ้องร้องครั้งนี้ ช็อกประชาชนคนไทยทั้งประเทศตกตะลึงพรึงเพริด เพราะไม่มีใครคาดคิดเลย ว่า "รัฐบาลนั้นจะทำ ถึงขั้นฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ของชาติ…ได้ลงคอ"

ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ โจทก์คือกระทรวงการคลัง โดย หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้ขอให้ศาลสั่งยึดทรัพย์จำเลยระหว่างการพิจารณาไว้ก่อนด้วย โดยอ้างเหตุผลคือ "เกรงจำเลยทั้งสอง จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน"

อธิบดีศาลแพ่ง คุณพระสุทธิอรรถนฤมนต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งในเวลานั้นมีคำสั่งว่า “ไม่อนุญาต” ตามคำร้องของโจทก์ ที่ขอยึดทรัพย์จำเลยไว้ระหว่างการพิจารณา

แต่ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในคอนนั้น มีคำสั่งย้ายพระสุทธิอรรถนฤมนต์ ขึ้นไปดำรงตำแหน่งในศาลฎีกาเอาดื้อ ๆ

แต่ที่น่าตกใจมากๆก็คือ ไม่กี่เดือนถัดมา ได้มีคำสั่งให้คุณพระสุทธิอรรถนฤมนต์ ออกจากราชการฐาน…รับราชการนาน

และคุณพระสุทธิอรรถนฤมนต์ ต้องออกจากราชการไปนานกว่า สี่ปี ก่อนมีคำสั่งจากรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ให้กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง

เมื่อย้ายคุณพระสุทธิอรรถนฤมนต์ได้แล้ว ความพยายาม ของรัฐบาลโดยผู้ก่อการกลุ่มหนุ่ม ในการเข้ายึดทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ ก็สัมฤทธิผล โดย น.อ.หลวงกาจสงคราม รัฐมนตรีคนหนึ่ง ซึ่งเป็นกรรมการตรวจรับงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจบัญชีด้วย ได้นำเจ้าหน้าที่กองหมายของศาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอีกหนึ่งโขยง บุกเข้าวังศุโขทัย เพื่อทำการปิดหมายยึดทรัพย์

คนพวกนี้กลับรู้สึกผิดหวังเป็นอันมาก เพราะพวกเขาคิดว่าจะได้พบเงินทองและทรัพย์สินมีค่ามหาศาล กลับต้องผิดหวังเป็นที่สุด เพราะทรัพย์สินทั้งหมด รวมอสังหาริมทรัพย์คือตัววังสุโขทัยด้วย ก็มีมูลค่าเพียง ๓ ล้านกว่าบาทเท่านั้น

การพิจารณาคดีดำเนินไปหลายปี จนกระทั่งในที่สุดศาลได้มีคำสั่ง ตามคดีหมายเลขดำที่ ๒๔๒/๒๔๘๒ คดีหมายเลขแดง ที่ ๔๐๔/๒๔๘๔ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (พิพากษาหลังสวรรคตแล้ว)

ให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นจำเลยที่ ๑ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จำเลยที่ ๒ เป็นฝ่ายแพ้คดี

รัฐบาลยึดวังศุโขทัยและริบทรัพย์สินอื่นของพระปกเกล้าฯ เพื่อนำไปขายทอดตลาด แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ขาย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นกระทรวงที่ตั้งขึ้นใหม่ก็ได้ขอเช่าวังศุโขทัยจากกระทรวงการคลังในอัตรา ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน เพื่อใช้เป็นที่ทำการ จนกระทั่งย้ายออกไปในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๓

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ ขณะนั้นเป็นรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐบุรุษอาวุโสได้บันดาลให้เกิดสัญญาประนีประนอมประวัติศาสตร์ขึ้นระหว่างรัฐบาลกับจำเลยที่ ๒ ในคดีที่รัฐบาลเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และกองมรดกผลประโยชน์ทั้งหลายของเจ้าฟ้าประชาธิปก มีสาระสำคัญว่า บรรดาทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหลายที่ผูกพันกันอยู่นั้น เป็นอันให้เลิกแล้วต่อกัน รัฐบาลได้มาแล้วเท่าไรก็เอาเท่านั้น

และหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ย้ายออกไปแล้ว ทางการก็ได้ถวายวังศุโขทัยคืนแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เพื่อเป็นที่ประทับต่อไป

ที่มา สยามานุสสติ




แก้ไขเมื่อ 12 พ.ค. 2562 02:03

ผู้โพส: gunhotnews
วันที่: 12 พ.ค. 2562 01:58
จำนวนคนเข้าชมทั้งหมด:3648
หมวด: ความรู้ทั่วไป

 

 

 

 


  แสดงความคิดเห็น
 
 
 
ชื่อ
กรุณากรอกข้อความตามภาพ    *ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ทุกตัวและมีอักษรภาษาไทยผสม 
อัพโหลดรูปที่นี่ และนำโค๊ด HTML Code มาใส่ในข้อความที่ต้องการ