เรื่องเล่าในอุโมงค์ที่วัดศรีชุม “จุลลกเศรษฐีชาดก” Startup จากโลกโบราณ
เรื่องเล่าในอุโมงค์ที่วัดศรีชุม “จุลลกเศรษฐีชาดก” Startup จากโลกโบราณ
.
.
.
*** แผ่นหินจารลายเส้นเล่าเรื่องราว “ชาดก 500 พระชาติ” พร้อมอักษรกำกับเรื่องราวที่เรียกว่า “จารึกภาพชาดกวัดศรีชุม” สลักขึ้นจากหินดินดาน พบติดประดับอยู่บนเพดานของช่องทางเดิน ช่องบันไดและช่องหน้าต่าง เฉพาะในอุโมงค์ทางเดินภายในผนังกำแพงอาคารเรือนมณฑป-เรือนธาตุ ประธานของวัดศรีชุม เมืองโบราณสุโขทัย
.
แผ่นหินแต่ละแผ่นมีขนาดไม่เท่ากัน บางแผ่นอาจจารภาพได้เพียงเรื่องเดียว แต่บางแผ่นอาจจารได้มากถึง 3-6 เรื่องในแผ่นเดียว แผ่นหินดินดานส่วนใหญ่จะชำรุดแตกหัก ลายเส้นภาพและตัวอักษรลบเลือน มีที่จารเป็นชาดกจำนวน 40 แผ่น จากทั้งหมด 52 แผ่น ที่เหลือเป็นภาพบัวบานและพระพุทธบาทครับ
.
ภาพสลักเรื่องชาดกบนแผ่นหิน มีรูปแบบทางศิลปะตามอิทธิพลของศิลปะลังกาและงานศิลปะรามัญ-พุกาม ตัวอักษรไทยที่จารึกกำกับเรื่องในแต่ละแผ่นนั้น มีอายุอักษรในช่วงปลายสมัยพระญาลิไท (ฦๅไทย-ลิเทยฺย) ไปถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งน่าจะเริ่มต้นสลักเรื่องราวชาดก โดยกำกับของพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสวามี (มหาเถระศรีศรัทธา)
.
*** เรื่องราวชาดก 500 พระชาติ ทั้งหมดอยู่ใน “อรรถกถาชาดก” (Jātakatthavaṇṇanā) ในภาษาบาลี ที่มีทั้งหมด 547 (550) เรื่อง ตามคติของฝ่ายเถรวาท (Theravāda) เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตนของพระโพธิสัตว์ในแต่ละภพชาติก่อนจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงการกระทำความดีและความชั่วผ่านเรื่องเล่าในนิทาน เป็นคติที่ได้รับความนิยมในอาณาจักรพุกามต่อเนื่องมาจนถึงอาณาจักรมอญ-หงสาวดี ที่เริ่มปรากฏความนิยมในรัฐสุโขทัยประมาณช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หลังจากที่ราชสำนักหมดความนิยมในคติวัชรยานแบบเขมรและกัมโพชสงฆ์ปักขะในยุคก่อนหน้าไปครับ
.
*** ชาดก” (Cullaka-Setthi-Jātaka) อยู่ภาพหนึ่งนับเป็นแผ่นที่ 14 ในอุโมงค์ทางเดินภายในผนังกำแพงอาคารเรือนมณฑป-เรือนธาตุ ประธานของวัดศรีชุม เมืองโบราณสุโขทัย มีข้อความจารึกว่า “จุลลกชาดก โพธิสตตวเปนลูกเสรถีเห็นหนูตัว...หนึ่งจึงให้...หนึ่ง...” เป็นความย่อของชาดก ว่า พระโพธิสัตว์เสยพระชาติเป็น “จุลลกะเศรษฐี” เมืองพาราณสี ผู้มีความสามารถในการพยากรณ์ วันหนึ่งนั่งรถม้าผ่ามาพบกับหนูตายตัวหนึ่งบนถนน จึงกล่าวพยากรณ์ขึ้นว่า จะมีผู้มีปัญญาสามารถสร้างความร่ำรวยจากหนูตายนี้ได้
.
ชายหนุ่มยากจนนามว่า “จูฬันเตวาสิก” ได้ฟังคำพยากรณ์ ได้นำหนูตายตัวนั้นไปขายให้ยายแก่เพื่อเป็นอาหารแมวได้เงินมา 1 กากณึก (เงินที่มีค่าต่ำที่สุด) จึงไปซื้อน้ำอ้อยมาจำนวนหนึ่ง เขาพบเห็นชาวบ้านพวกเก็บดอกไม้มาจากป่า ด้วยความมีน้ำใจ จึงให้พวกนั้นดื่มน้ำอ้อยกันคนละนิดหน่อย แล้วไปเอาน้ำในบ้านมาให้ดื่มกันอีกคนละกระบวย พวกคนเก็บดอกไม้ จึงให้ดอกไม้คนละกำมือเพื่อตอบแทน เขาจึงได้เอาดอกไม้ที่ได้มานั้นไปขายได้เงินมาอีกจำนวนหนึ่ง วันต่อมาจึงนำเงินไปซื้อน้ำอ้อยอีกและตรงไปยังสวนดอกไม้ ให้พวกคนปลูกดอกไม้ได้ดื่มน้ำอ้อย พวกคนปลูกดอกไม้จึงตอบแทนน้ำใจเขาด้วยการให้ดอกไม้ที่เก็บแล้วมากขึ้น เขาจึงนำดอกไม้ไปขาย ได้เงินมา 8 กหาปณะ
.
ต่อมาในวันที่เกิดฝนเจือลมแรงพัดกระหน่ำ ทำให้ไม้แห้งกิ่งไม้และใบไม้เป็นอันมาก ในพระราช อุทยานของพระเจ้าพรหมทัต ถูกลมพัดตกลงมาเกลื่อนทั่ว ทำให้คนเฝ้าอุทยาน ไม่มีเรี่ยวแรง ที่จะนำไปทิ้งได้หมด เมื่อจูฬันเตวาสิกได้รับรู้ข่าวนี้ จึงไปยังพระราชอุทยานนั้นแล้วรับอาสากับคนเฝ้าอุทยานขอเก็บกิ่งไม้และใบไม้ให้โดยนำน้ำอ่อยไปให้กับเด็ก ๆ มาช่วยกันขนกิ่งไม้ใบไม้ทั้งหมดกลับไป นำไปขายให้กับช่างปั้นหม้อหลวงที่กำลังต้องการฟืนได้เงินเป็น 16 กหาปณะ ภาชนะอีก 5 ใบ เขานำภาชนะใส่น้ำตั้งไว้ใกล้ประตูเมืองพาราณสี เพื่อบริการแก่คนเดินทาง และพวกขนฟืน หาบหญ้า ให้ได้ดื่มกินกันดับความกระหายน้ำ จนได้มีมิตรสหายมากมายทั้งทางบกและทางน้ำ
.
วันหนึ่งจูฬันเตวาได้ข่าวจากมิตรสหายทางบกว่าจะมีพ่อค้านำม้า 500 ตัวมา เขาจึงขอหญ้าจากคนหาบหญ้าที่มาดื่มน้ำคนละกำมือ จนเมื่อพ่อค้าม้ามาถึง ไม่สามารถหาซื้อหญ้าสำหรับม้าได้ เพราะจูฬันเตวาขอให้ชาวบ้านอย่างเพิ่งขาย ขอให้ตนได้ขายหมดก่อน พ่อค้าม้าจึงต้องมาซื้อกับจูฬันเตวาด้วยราคาสูงถึง 1,000 กหาปณะ
.
ต่อมาเขาได้รับข่างจากมิตรสหายที่ทำการค้าทางน้ำมาบอกว่าจะมีเรื่องสำเภาใหญ่มาเทียบท่า เขาจึงนำเงิน 8 กหาปณะ ไปเช่ารถม้าและตระเตรียมผู้คนเตรียมพร้อมรับพ่อค้าใหญ่ เอาแหวนที่มีราคาวงหนึ่ง ไปมัดจำสินค้าบนเรือกับนายเรือไว้ก่อน เมื่อเหล่าพ่อค้าเมืองพาราณสีกว่า 100 คน มาที่ท่าเรือเพื่อซื้อสินค้าไปขาย ก็ต้องบมาซื้อผ่านจูฬันเตวาที่ประวิงเวลาไว้ จึงมอบทรัพย์ให้คนละ 1,000 กหาปณะ เพื่อจับจองสินค้าบนเรือ แล้ว เสียอีกคนละ 1,000 กหาปณะ เพื่อซื้อสินค้า จูฬันเตวาสิกจึงทำเงินได้ถึง 200,000 กหาปณะ เมื่อคิดถึงจุลลกะเศรษฐี ที่เคยพยากรณ์เรื่องหนูตายไว้จึงเกิดสำนึกบุญคุณ นำเงินที่ได้ครึ่งหนึ่งไปมอบให้แก่จุลลกะเศรษฐี และเล่าเรื่องการทำงานของตนตลอด 4 เดือน หลังได้ยินคำพยากรณ์ พระโพธิสัตว์ทรงชื่นชมจึงรับจูฬันเตวาสิกมาเป็นลูกเขย ให้แต่งงานกับธิดาของตน
.
*** เมื่อจุลลกะเศรษฐีเสียชีวิต จูฬันเตวาสิกจึงได้รับสืบทอดทรัพย์สมบัติทั้งหมด จนได้ชื่อว่า เป็นมหาเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสี
.
*** “แสวงโอกาส ขยันอุตสาหะ มีความเพียรพยายามและรู้บุญคุณ จะนำไปสู่ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ”
.
.
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
บทความทั้งหมดเขียนโดยคุณ Voranai Pongsachalakorn
![]() |
24 มิ.ย. |+2015| 20:49 |
![]() |
27 มี.ค. |+2015| 00:05 |
![]() |
31 ก.ค. |+2016| 17:34 |
![]() |
28 เม.ย. |+2016| 21:14 |
![]() |
04 ก.ค. |+2025| 02:39 |
จำนวนคอมเม้น: 0ยังไม่มีความคิดเห็น