“เมอร์ส...โคโรนาไวรัส” บทเรียนปะทุซ้ำจากสัตว์สู่คน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ไวรัสสัตว์สู่คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าทีมวิจัยแกนนำ สวทช. (2557–2561) สะท้อนว่า...
โรคระบาดทางเดินหายใจถิ่นกำเนิดจากตะวันออกกลาง หรือที่เรียกว่า เมอร์ส (MERS-Middle East Respiratory Syndrome) เกิดจากเมอร์ส โคโรนาไวรัส (coronavirus) ซึ่งเป็นไวรัสพี่น้องกับ “ซาร์ส (SARS)” ในตระกูลใหญ่โคโรนาที่ระบาดเมื่อปี 2003 ลามไป 30 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 800 ราย
ณ ก่อนหน้าที่จะมีซาร์สระบาด โคโรนาไวรัสที่ติดเชื้อในคนและทราบตั้งแต่ปี 1960 คือ HCoV-229E และ HCoV-OC43 และหลังจากปีที่ซาร์สระบาดพบเพิ่มคือ HCoV-NL63 (2004) และ HCoV-HKU 1 (2005)
ถามถึงที่มาที่ไปไวรัสเมอร์สมาจากไหน? ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า ต้นตอของไวรัสโคโรนาก็เช่นเดียวกับ “ไวรัสอีโบลา” หรือ “ไวรัส
นิปาห์ (Nipah)” ที่ทำให้เกิดสมองอักเสบ ปอดบวม
โดยผู้ป่วยรายแรกที่เป็นเมอร์สอยู่ในซาอุดีอาระเบีย อายุ 60 ปี มีอาการมา 7 วัน จนเข้าโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2012 ด้วยอาการไข้ ไอ เสมหะ เหนื่อยหายใจไม่ทัน ...ที่สำคัญคือ...ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีความเสี่ยงใดๆทั้งสิ้น ไม่มีโรคปอด หอบหืด ไม่มีโรคหัวใจ โรคไต ไม่สูบบุหรี่
คนไข้รายแรกนี้เสียชีวิตในวันที่ 24 มิถุนายน 2012 การค้นหาเชื้อจนระบุตัวได้ว่าเป็น “เมอร์สโคโรนาไวรัส” มาจากการใช้วิธีตรวจหารหัสพันธุกรรมทั้งตระกูลของโคโรนา ซึ่งเป็นวิธีการที่ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้อยู่ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน โดยทุนสนับสนุนจาก สวทช.
“วิธีนี้สามารถระบุไวรัสครอบคลุมได้หมดในตระกูล ทั้งตัวที่ทราบอยู่แล้วและตัวที่ไม่เคยทราบมาก่อน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ว่า “หลักฐานที่เริ่มชี้บ่งไปถึงค้างคาวคือการที่เมอรส์โคโรนาไวรัสมีรหัสพันธุ กรรมกลุ่มเดียวกับไวรัสที่พบในค้างคาวกินแมลงในแอฟริกาใต้”
ค้างคาวกินแมลงที่ว่านี้อยู่ในสายพันธุ์ “Neoromicia cf.zuluensis” และยังมีไวรัสจากค้างคาวยุโรป Pipistrellus...ค้างคาว Nycteris ในกานา และไวรัส HKU4 และ HKU5 ในค้างคาวจีน และที่พบในค้างคาวสเปน Hypsugo savii และ Nyctinomops ในเม็กซิโก
ในประเทศไทย ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ไวรัสสัตว์สู่คน พบว่ามูลค้างคาวไทยมีไวรัสที่ตกอยู่ในเบต้าโคโรนากลุ่ม C เช่นเดียวกับเมอร์ส ประเด็นน่าสนใจยังพบโคโรนาไวรัสหลากหลายในกลุ่มแอลฟา และอยู่ในค้างคาวหลายสายพันธุ์ จากผู้ป่วยรายแรกมีการติดต่อจากคนสู่คน ลามไปในประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี ตูนิเซีย กรีซ ฟิลิปปินส์
ให้รู้ต่อไปอีกว่า “ค้างคาว”...ที่นำโรคมาสู่คนในตะวันออกกลาง
มีตัวกลางคือ “อูฐ” โดยเพิ่งมีการค้นพบในปี 2013
โดยมีหลักฐานในเลือดบ่งบอกถึงการติดเชื้อ
และสามารถพบตัวพันธุกรรมไวรัสในจมูก มูล เยี่ยว
แม้ในอากาศที่บริเวณเดียวกับที่อูฐอาศัย
ทั้งนี้โดยที่การติดต่อมาคนอาจจะเกิดจากการสัมผัสโดยตรงหรือสัมผัสพื้นผิวภาชนะใกล้เคียง จากฟองฝอยละอองจากอูฐ จากสิ่งคัดหลั่ง
หรือที่อาจจะเป็นไปได้แต่โอกาสน้อยคือจากฝุ่นตามพื้นที่มีเชื้อปลิวขึ้น แม้แต่อาจผ่านทางการหายใจโดยตรง จากการกินเนื้อ นมดิบ ติดขณะปรุงชำแหละเนื้อ และจากการกินเนื้ออูฐที่ไม่สุก
“อูฐอาจได้รับเชื้อจากที่ค้างคาวปล่อยมาทางสิ่งคัดหลั่งโดยตรง หรือค้างคาวมายังลิงบาบูน และลิงแพร่มาอูฐอีกต่อ...ในปี 2013 ปีเดียวกันนั้นเองสามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าต้นตอไวรัสที่มายังคนและอูฐมา จากค้างคาวในซาอุดีอาระเบียเอง ทั้งนี้โดยที่รหัสพันธุกรรมของไวรัสที่ได้จากค้างคาวตรงกันกับที่ได้จากผู้ ป่วย”
สำหรับความรุนแรงของเมอร์สอยู่ที่ความสามารถในการแพร่จากคนสู่คน โดยเฉพาะจากผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการและจะแพร่เชื้อได้กว้างขวางมากขึ้นเมื่อ อาการหนักขึ้นไปสู่คนไข้ใกล้เคียง แพทย์ พยาบาล และผู้ติดเชื้อในระลอกแรกก็จะปล่อยเชื้อให้คนอื่นเป็นระลอกสอง และสู่สาม สี่ ตามลำดับ
โดยที่ “คนเดียว”...อาจแพร่ให้เกิดการติดเชื้อหลายคนในคราวเดียวกัน
การระบาดในเกาหลีเกิดขึ้นจากผู้ที่ได้รับเชื้อในตะวันออกกลาง ซึ่งเดินทางไปบาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และกาตาร์ระหว่างวันที่ 18 เมษายน-4 พฤษภาคม 2015 และเริ่มป่วยเมื่อกลับมาเกาหลี ในวันที่ 11 พฤษภาคม ไปที่คลินิกแพทย์ต่อด้วยเข้าโรงพยาบาลอีกแห่ง จากนั้นต่อไปอีกคลินิกและจบที่โรงพยาบาลสุดท้าย ช่วงวันที่ 17-20 พฤษภาคมจึงวินิจฉัยได้...เมื่อนับย้อนหลัง 14 วันก่อนป่วย ซึ่งเป็นระยะฟักตัวหลังได้รับเชื้อ ผู้ป่วยปฏิเสธการสัมผัสผู้ป่วยหรือสัมผัสสัตว์ใดๆทั้งสิ้น
การแพร่เริ่มลุกลามตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ไปยังแพทย์...ผู้ป่วย...ญาติผู้ป่วย สถานการณ์ระบาดกว้างขวางเนื่องจากบุคคลที่สัมผัสผู้ป่วยไม่ยอมแยกกักกันตัว เอง เดินทางไปเมืองอื่น ประเทศอื่น ไปจีนผ่านทางฮ่องกง และแพทย์ที่มีอาการยังคงไปประชุมวิชาการต่ออีก 3 แห่ง
ทำให้มีผู้ติดเชื้อไป 108 ราย (ถึงวันที่ 10 มิถุนายน)...เสียชีวิต 9 ราย และเฝ้ากักดูอาการอีกมากกว่า 2,800 ราย
ซึ่งรวมทั้งผู้เดินทางในพาหนะหรือทางเครื่องบินลำเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ ระยะฟักตัวตั้งแต่ได้รับเชื้อจนมีอาการอยู่ที่ 2-14 วัน ทั้งนี้โดยผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะตั้งแต่ที่เริ่มป่วย แล้ว และยังไม่แน่ชัดว่าจะสามารถแพร่เชื้อก่อนเกิดอาการได้มากน้อยเพียงใด จากการสัมผัสกับพื้นผิวภาชนะแม้แต่ลูกบิดประตู ทานอาหาร ดื่มน้ำในภาชนะร่วมกัน และเริ่มอาจต้องระวังการติดต่อทางการหายใจ
เนื่องจาก “เมอร์ส...โคโรนาไวรัส” อยู่ในกลุ่มเดียวกับซาร์สและการติดเชื้อที่เกาหลีเกิดแม้กระทั่งผู้ที่อยู่ ในบริเวณที่ผู้ป่วยอยู่เพียง 5 นาทีเท่านั้น เมื่อเริ่มมีอาการแล้วอย่างน้อยอาจแพร่เชื้อต่อไปอีกได้ไม่ต่ำกว่า 7 วัน
แต่ถ้าอาการหนักและอยู่ในระบบการประคองช่วยชีวิต อาจแพร่ต่ออีกได้ 25-30 วัน...แต่จะนานกว่านี้หรือไม่หลังจากอาการสงบแล้วต้องติดตามตรวจไวรัสในสิ่ง คัดหลั่ง ปัสสาวะ อุจจาระ เป็นต้น
การตรวจหาเชื้อต้องทำการตรวจตัวอย่างหลายชนิดพร้อมๆกันตั้งแต่ป้ายจากใน ช่องปาก...คอ รูจมูกช่องโพรงด้านหลัง...เสมหะ เลือด และที่ป้ายจากช่องทวาร กรณีตรวจครั้งแรกได้ผลลบควรตรวจซ้ำ โดยที่ถ้ามีอาการหนักขึ้น การได้เสมหะจากการดูดทางท่ออาจจะทำให้จับตัวไวรัสได้แม่นยำขึ้น
ที่ต้องเน้นย้ำ...การเดินทางเข้าในถิ่นระบาดต้องไม่สัมผัสสัตว์ใดๆรวม
ทั้งอูฐ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ปกติหรือป่วยก็ตาม ไม่กินอาหารที่ปรุงไม่สุก
ไม่ดื่มนมดิบ หลีกเลี่ยงปะปนกับผู้ป่วยมีอาการไม่สบาย
ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆด้วยแอลกอฮอล์ น้ำหรือเจล หรือสบู่
ผู้เดินทางกลับมาจากถิ่นระบาดต้องกักตัวแยกจากผู้อื่นทันทีที่ป่วย
และรายงานต่อทางการทันทีเพื่อป้องกันตัวจากโรคและแพร่กระจาย
กรณีที่สถานการณ์เลวร้าย ผู้ป่วยอาจได้รับเชื้อต่อจากหลายทอด...
ไม่จำเป็นต้องมาจากถิ่นระบาดหรืออยู่ใกล้ชิดกับคนที่มาจากถิ่นระบาดก็ได้ ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวอาการจะรุนแรงกว่า คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจจะแสดงอาการในรูปท้องเสียเด่น ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจะมีไตวายร่วมด้วย...
ซึ่งมากกว่า “ซาร์ส”...ที่มีปอดเป็นอาการเด่น การรักษาด้วยยา ribavirin และ interferon alpha 2a แม้ดูเสมือนดีใน 14 วันแรก แต่ไม่เปลี่ยนอัตราตายที่ 28 วัน เสียชีวิตโดยเฉลี่ยที่ 40%
“เมอร์ส...โคโรนาไวรัส” จึงเป็นอีกไวรัสสัตว์สู่คนที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด.